B.S. Genetics (วท.บ. พันธุศาสตร์)

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต ภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2524 นับจากอดีตถึงปัจจุบัน หลักสูตรประกอบด้วยคณาจารย์ผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาพันธุศาสตร์ซึ่งจบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงมีโครงการวิจัยในหัวข้อต่างๆ เกี่ยวข้องกับการเพิ่มพูนองค์ความรู้ทางพันธุศาสตร์อย่างต่อเนื่อง หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (พันธุศาสตร์) มุ่งเน้นการเรียนการสอนควบคู่ไปกับการปฏิบัติ เพื่อให้นิสิตมีทักษะในการคิด วิเคราะห์แก้ปัญหา และการปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ให้ตรงกับความต้องการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงความต้องการของประเทศชาติ นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้นิสิตได้ทำกิจกรรมในด้านต่างๆ ที่ช่วยพัฒนาบุคลิกภาพ การอยู่ร่วมในสังคม รวมถึงส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ดังนั้นพัฒนาการของนิสิตที่ได้จากองค์ความรู้และกิจกรรมของหลักสูตรจะช่วยพัฒนาบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นตามที่ตนได้วางแผนไว้

เอกลักษณ์หลักสูตร คือ KUGEN

Knowledge ความรู้ ภูมิปัญญา
Unity เอกภาพ สามัคคี
Genesis สร้างสรรค์สิ่งใหม่
Education ฝึกฝนใฝ่รู้
Nationality เรียนรู้ความเป็นไทย

อัตลักษณ์ = 4G
Green เห็นค่า รักษาสิ่งแวดล้อม
Giving เป็นผู้ให้ เสียสละ
Global มุ่งสู่สากล
Growing เติบโตต่อเนื่อง

คุณลักษณะพึ่งประสงค์ของบัณฑิต วิทยาศาสตรบัณฑิต (พันธุศาสตร์)

1. สามารถอธิบายสมมติฐาน กฎ ทฤษฎีและกระบวนการต่างๆ ที่เป็นรากฐานของพันธุศาสตร์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพที่เกี่ยวข้อง อาทิ กฎการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม โครสร้างดีเอ็นเอ ทฤษฎีโครโมโซม ทฤษฎีวิวัฒนาการ การแบ่งเซลล์ การจำลองตัวเอง หรือ การแสดงออกของยีน เป็นต้น

2. สามารถอธิบายความหมาย รูปแบบ ลักษณะและการใช้ประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับความรู้ทางพันธุศาสตร์ อาทิ โรคพันธุกรรม การตรวจวินิจฉัยด้วยดีเอ็นเอ นิติพันธุศาสตร์ การปรับปรุงพันธุ์พืช-พันธุ์สัตว์ พันธุวิศวกรรม เครื่องหมายดีเอ็นเอ การเกิดชนิดใหม่ การสูญพันธุ์ และการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิต เป็นต้น

3. สามารถอธิบายคุณลักษณะ การใช้ประโยชน์ ข้อจำกัด และข้อควรระวังของสารเคมี เอนไซม์ วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการพันธุศาสตร์และห้องปฏิบัติการลักษณะใกล้เคียง

4. มีทักษะการปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการพันธุศาสตร์หรือห้องปฏิบัติการที่มีลักษณะใกล้เคียง โดยมีทักษะพื้นฐานสำคัญ คือ การสกัดดีเอ็นเอ การทำปฏิกิริยาพีซีอาร์ การโคลนชิ้นดีเอ็นเอ การตรวจสอบและแยกขนาดชิ้นดีเอ็นเอ การตรวจสอบรูปร่างและจำนวนโครโมโซม การเข้าถึง รวบรวม และใช้ประโยชน์จากข้อมูลสารสนเทศ รวมถึงการแปรผลที่ได้จากการตรวจวิเคราะห์ทางพันธุกรรม

5. เป็นผู้มีความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสังคม เป็นผู้เสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความสามัคคี และมีความภูมิใจในความเป็นไทย

ชื่อหลักสูตร

  1. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพันธุศาสตร์ พ.ศ. 2560 (รายละเอียดวิชา)
  2. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพันธุศาสตร์ หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2565

Bachelor of Science Program in Genetics

ชื่อปริญญา

วิทยาศาสตรบัณฑิต (พันธุศาสตร์)

Bachelor of Science (Genetics)

อักษรย่อปริญญา วท.บ. (พันธุศาสตร์)/B.S. (Genetics)

รูปแบบหลักสูตร

หลักสูตรระดับปริญญาตรี 4 ปี

ภาษาที่ใช้

ภาษาไทย

กิจกรรมของหลักสูตร

ฝึกงาน, ดูงาน, โครงงานวิจัยระดับปริญญาตรี และกิจกรรมนิสิตแต่ละชั้นปี

จำนวนหน่วยกิต

จำนวนหน่ายกิตรวมตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 133 หน่วยกิต

นิสิตภายใต้ความรับผิดชอบของภาควิชาพันธุศาสตร์จะได้รับการพัฒนาสมรรถนะเพื่อให้สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีคุณลักษณะที่พึ่งประสงค์ของ ตลอด 4 ปีของหลักสูตร เพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ พัฒนาทักษะการปฏิบัติงานทางพันธุศาสตร์ และเตรียมตัวเพื่อประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น โดยมีลำดับการเรียนรู้ในแต่ละชั้นปี ดังนี้

ชั้นปี 1 เรียนรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ทั้งทั้งวิทยาศาสตร์กายภาพ ชีวภาพ คณิตศาสตร์ และความรู้พื้นฐานทางสังคม เพื่อให้นิสิตมีความพร้อมในการศึกษาวิทยาศาสตร์

ชั้นปี 2 เรียนรู้พื้นฐานทางชีววิทยา พันธุศาสตร์ และวิชาที่เกี่ยวข้อง สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการเรียนวิชาเฉพาะทางพันธุศาสตร์ และห้องปฏิบัติการทางชีววิทยาอื่นๆ

ชั้นปี 3 เรียนรู้ความรู้เฉพาะทางพันธุศาสตร์ ฝึกฝนการปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการทางพันธุศาสตร์ และห้องปฏิบัติการที่มีลักษณะใกล้เคียง เพิ่มพูนประสบการณ์ทำงาน และเตรียมความพร้อมในการทำโครงงานวิจัยทางพันธุศาสตร์ที่สนใจ

ชั้นปี 4 เรียนรู้วิชาเฉพาะทางพันธุศาสตร์ เพิ่มพูนทักษะการปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการพันธุศาสตร์ ฝึกคิดอย่างเป็นระบบ วางแผน และรับผิดชอบ มีประสบการณ์วิจัยผ่านโครงการวิจัยทางพันธุศาสตร์ ทบทวนฝึกฝนทักษะในการประกอบอาชีพ การเข้าสังคม และภาษาต่างประเทศ หรือเตรียมการสำหรับศึกษาต่อ

หลักสูตร วท.บ. (พันธุศาตร์) ได้เพิ่มโอกาสและประสบการณ์เรียนรู้นอกชั้นเรียน ผ่านกิจกรรมเสริมหลักสูตร ซึ่งจะทำให้นิสิตมีการพัฒนาตนเอง สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งกิจกรรมเสริมหลักสูตรจะช่วยเติมเต็มคุณลักษณะความเป็นบัณฑิตให้เกิดแก่ผู้สำเร็จการศึกษาโดยสมบูรณ์

โดยนิสิตที่เข้าศึกษาตลอดระยะเวลา 4 ปี นิสิตเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ทั้งในฐานะผู้รับผิดชอบดำเนินการกิจกรรมนั้น และเป็นผู้ร่วมกิจกรรมต่างๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนทักษะการอยู่ร่วมในสังคมอย่างเหมาะสม ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย

1. กิจกรรมพิธีไหว้ครู

2. ทัศนะศึกษาเสริมภาษาอังกฤษ

3. แนะนำอาชีพโดยรุ่นพี่

4. ค่ายเยาวชนพันธุศาสตร์

5. อบรมการใช้เครื่องมือทางพันธุศาสตร์

6. กิจกรรมแสดงความยินดีกับพี่บัณฑิต ในงานพีธีพระราชทานปริญญาบัตร

7. สานสัมพันธ์น้องพี่พันธุศาสตร์

เพื่อให้นิสิตสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีคุณลักษณะเหมาะสมเพื่อการประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น หลักสูตรสนับสนุนให้นิสิตมีการฝึกงานโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนทักษะ ประสบการณ์ รวมถึงเตรียมความพร้อมในการทำงานทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นอกจากนั้นยังเป็นการฝึกฝนนิสิตให้แก้ไขปัญหาในการทำงานได้อย่างมีเหตุมีผล เป็นผู้มีความรับผิดชอบ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังมีส่วนให้เกิดความภูมิใจในสาขาวิชาที่เรียนและอาชีพของตน นิสิตภาควิชาพันธุศาสตร์ชั้นปีที่ 3 สามารถฝึกงานในหน่วยงานที่ตนสนใจได้ในช่วงปิดภาคฤดูร้อน เช่น

– สาขาการแพทย์

o ห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรค

o ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

o ห้องปฏิบัติการศูนย์ชันสูตรโรคสัตว์

– สาขาเกษตร

o หน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่ปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์เศรษฐกิจ

o บริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์

o บริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์

o ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

– สาขาเทคโนโลยีชีวภาพและชีวสารสนเทศ

o หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจที่ทำงานวิจัยทางเทคโนโลยีชีวภาพและ ชีวสารสนเทศ

o บริษัทที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพในหน่วย R&D

o บริษัทวิเคราะห์และตรวจสอบพันธุกรรม ลำดับเบสและจีโนม

– หน่วยวิจัยหรือห้องปฏิบัติการวิจัยในมหาวิทยาลัยต่างๆ

o ห้องปฏิบัติการเวชศาสตร์เขตร้อน

o ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยา

– สาขานิติวิทยาศาสตร์

– ธุรกิจเคมีภัณฑ์และอุปกรณ์วิทยาศาสตร์

อาจารย์ผู้สอนของหลักสูตร วท.บ. (พันธุศาสตร์) เป็นผู้มีประสบการณ์วิจัยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีโครงการวิจัยร่วมกับหน่วยงานราชการและบริษัทเอกชนอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น

1. การผลิตไบโอดีเซลจากสาหร่าย ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

2. การพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลเพื่อระบุชนิดปลาปักเป้า ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

3. สร้างแผนที่พันธุกรรมเมล็ดพันธุ์แตงกวา และตำแหน่งยีนต้านทานโรคราน้ำค้าง ร่วมกับ สวทช. และ บริษัท เจียไต๋ จำกัด

4. การสร้างเครื่องหมายดีเอ็นเอเพื่อช่วยการจำแนกชนิดม้าน้ำ เพื่อการบริหารทรัพยากรม้าน้ำภายใต้ CITES ร่วมกับกรมประมง

5. การศึกษาเปปตีโดมและโปรตีโอมของเมือกหอยทาก ร่วมกับ บริษัท ดู เดย์ ดรีม จำกัด

6. การศึกษายีนที่เกี่ยวข้องกับการก่อโรคของเชื้อแบคทีเรียในปศุสัตว์ ร่วมกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

7. การศึกษาโปรตีโอมของหอยเป๋าฮื้อ ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และบริษัท ภูเก็ตเป๋าฮื้อฟาร์ม จำกัด

8. ปรับปรุงสายพันธุ์ Streptomyces เพื่อสร้างเอนไซม์ transglutaminase ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ร่วมกับ บริษัท รามาโปรดั๊กชั่น จำกัด

9. การใช้ endophytic actinomycetes ในการควบคุมโรคเหี่ยวเน่าแดง และโรคแส้ดำในอ้อย ร่วมกับ บริษัท มิตรผล จำกัด

ซึ่งประสบการณ์วิจัยเหล่านี้ ได้ถูกถ่ายทอดให้กับนิสิตของภาควิชาผ่านวิชาเรียนทั้งบรรยายและปฏิบัติการ รวมถึงการมอบหมายงานวิจัยให้นิสิตรับผิดชอบผ่านโครงงานวิจัยทางพันธุศาสตร์ ซึ่งนิสิตทุกคนต้องมีประสบการณ์วิจัยอย่างน้อย 1 หัวข้อ

พันธุศาสตร์เป็นพื้นฐานและเกี่ยวข้องกับความรู้ในสาขาต่างๆ ของวิทยาศาสตร์ชีวภาพอย่างกว้างขวาง ด้วยเหตุนี้ ผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตร วท.บ. (พันธุศาสตร์) สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาทั้งแบบ ปริญญามหาบัณฑิต และการศึกษาต่อเนื่องดุษฎีบัณฑิตแบบ โท-เอก ทั้งหลักสูตรภาษาไทยและหลักสูตรนานาชาติ

นอกจากนี้ บัณฑิตยังสามารถศึกษาต่อในสาขาอื่นๆ ที่ตนเองสนใจนอกเหนือจากการสายวิทยาศาสตร์ เช่น MBE (เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ) หรือ MBA (บริหารธุรกิจ)

บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตร วท.บ. (พันธุศาสตร์) มีคุณสมบัติเฉพาะที่สามารถทำงานได้ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยสามารถแบ่งเป็นสายงานต่างๆ ได้ดังนี้

ตำแหน่งงานราชการ พนักงานราชการ หรือการจ้างเหมาของโครงการตามปีงบประมาณ อาทิ

– นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ กรมปศุสัตว์ กรมประมง

– นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

– นักวิทยาศาสตร์ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ

– ผู้ช่วยนักวิชาการเกษตร กรมการข้าว

– นักวิชาการประมงปฏิบัติการ กรมประมง

– นักวิชาการอาหารและยาปฏิบัติการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

– นักวิทยาศาสตร์ หรือผู้ช่วยวิจัยในห้องปฏิบัติการทางพันธุ์ศาสตร์ต่างๆ อาทิ

+ ห้องปฏิบัติการมนุษย์พันธุศาสตร์

+ ห้องปฏิบัติการเภสัชพันธุศาสตร์

+ ห้องปฏิบัติการนิติพันธุศาสตร์

+ ห้องปฏิบัติการพันธุศาสตร์การแพทย์

+ ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล

+ ห้องปฏิบัติการอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์

ตำแหน่งพนักงานบริษัทเอกชนด้านจำหน่ายเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ สารเคมี

– Field application manager

– Product manager

– Product specialist

– Sales consultant

– Sales representative

– Technical sales specialist

ตำแหน่งพนักงานบริษัทการเกษตรและอาหาร

– ปฏิบัติงานปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์

– ปฏิบัติงานตรวจสอบควบคุมคุณภาพวัตถุดิบและผลผลิต

ตำแหน่งพนังงานในห้องปฏิบัติการบริษัทเอกชน

– นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติงานตรวจวิเคราะห์ทางพันธุกรรมของตัวอ่อนก่อนการย้ายกลับสู่มารดา

ติดต่อกรรมการผู้รับผิดชอบหลักสูตร

ดร.วรรณรดา สุราช wunral@yahoo.com

ดร.จตุพร กุลอึ้ง fscictp@ku.ac.th

ผศ.ดร.ประดิษฐ์ แสงทอง fscipds@ku.ac.th

ดร.ภัสสร วรรณพินิจ pwonnapinij@gmail.com

ดร.อัครพงษ์ สวัสดิพงษ์ akarapong.swatdipong@gmail.com

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตได้ผลิตบัณฑิตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 นับจนถึงปัจจุบันได้มีบัณฑิตสำเร็จการศึกษามากกว่า 800 คน